วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

ข่าวที่เกี่ยวกับการศึกษา

สพฐ.จวก ร.ร.เอกชนสอนภาษาไทย ผิดหลักวิชาการ



         สพฐ. ชี้การสอนภาษาไทยของ ร.ร. เอกชนที่ถูกวิจารณ์ให้แซดในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นการสะกดแบบการเขียน ชี้เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ไม่ผิดแต่ไม่ถูกหลักวิชาการ ยันไม่สนับสนุนและไม่ให้ ร.ร.สพฐ. สอนด้วยวิธีนี้ยึดหลักการสอนแบบแจกรูป ที่ทำมาแต่อดีตทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้มากกว่า
          วันนี้ (4 ก.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนสารสาสน์ ที่มีการสอนสะกดภาษาไทยโดยที่ไม่ได้เน้นให้อ่านเพื่อให้เด็กจดจำการออกเสียงที่ถูกต้อง แต่ให้อ่านเพื่อให้เขียนถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ อาทิ คำว่า จำไม่ได้อ่านว่า จอ+อำ=จำแต่อ่านว่า จอ+อำ+อา=จำหรือ คำว่า มือไม่ได้อ่านว่า มอ+อือ=มือแต่อ่านว่า มอ+อือ+ออ=มือว่า ตนได้หารือกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการเรียนรู้ และสถาบันการศึกษาภาษาไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)และผู้เกี่ยวข้องแจ้งว่าการสอนลักษณะดังกล่าวเป็นการสอนเพื่อการเขียนไม่ใช่การสอนเพื่อการอ่านแบบที่มีการดำเนินการอยู่ ซึ่งรูปแบบและวิธีการที่โรงเรียนเอกชนดังกล่าวใช้อยู่นั้นถือเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่งซึ่งไม่ผิดแต่ไม่ถูกหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการสอนที่แม้แต่ในอดีตก็ไม่มีสอนแบบนี้ อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนภาษาไทยแก่นักเรียนที่ สพฐ.ดำเนินการอยู่นั้นจะสอนแบบเดียวกับการอ่าน เช่น คำว่า เป็นจะอ่านว่า ปอ-เอะ-นอ=เป็น และเมื่อสอนให้เด็กเขียนในคำเดียวกันเด็กจะเรียนรู้ได้เองว่าจะต้องเอาสระมาไว้ข้างหน้าก่อน ซึ่ง สพฐ.เรียกลักษณะการสอนแบบนี้ว่า การสอนแจกรูปที่ถูกหลัก ที่ใช้สอนมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียนของ สพฐ. นั้นไม่มีโรงเรียนใดใช้วิธีการสอนแบบนี้ และส่วนตัวเห็นว่าโรงเรียนไม่ควรใช้และจะไม่ให้ใช้วิธีการนี้สอนนักเรียนของเราด้วย ซึ่งตนมองว่าการสอนแจกรูปที่ถูกหลักแบบเดิมที่ทำอยู่นั้นเหมาะสมและช่วยให้เด็กอ่านคล่องเขียนคล่องมากกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงเรียนที่ใช้เทคนิคดังกล่าวเป็นโรงเรียนเอกชน สพฐ.คงไปทำอะไรไม่ได้ แต่เบื้องต้นจะแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แจ้งให้ศึกษานิเทศก์ของ สช.ไปลงติดตามตรวจสอบวิธีการสอนต่อด้านนายบัณฑิตย์ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ตนได้มอบให้เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริม ศึกษาเอกชน สช. ไปตรวจสอบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนในเครือสารสาสน์ ว่า การสอนวิชาภาษาไทยในรูปแบบดังกล่าวดำเนินการมานานแล้วหรือยัง และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเป็นอย่างไร หรือยังอยู่ในช่วงทดลองสอนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โดยหลักการไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนนั้น สช.จะดูเป้าหมายสุดท้ายว่าเด็กมีความรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อ่านออกเขียนได้หรือไม่ ส่วนเทคนิค และวิธีการสอนนั้น เป็นเรื่องที่สถานศึกษาดำเนินการเองได้ สำหรับแบบเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอน รัฐบาลก็เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเขียนตำราขึ้นมาได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ และหากนำมาใช้ต้องผ่านการตรวจสอบก่อน เพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือ และยอมรับได้
ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร. สุภัค มหาวรากร ประธานหลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สอนภาษาไทยให้นิสิตระดับปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า มีความเห็นเกี่ยวกับการสะกดคำตามหลักภาษาไทยที่ถูกต้องนั้นต้องเป็น พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และยังใช้ระบบนี้ในการสอนชาวต่างชาติที่มาเรียนภาษาไทย แต่สำหรับการสะกดแบบใหม่อาจเป็นเพียงแค่พื้นฐานของการสะกดคำ และอาจจะเป็นผลดีกับการเริ่มต้นในการสะกดคำเท่านั้น แต่ระบบนี้เป็นเพียง การทดลองนำมาใช้ กับเด็กนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออก เพราะเป็นการอ่านสะกดคำ เป็นคำๆ
ผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์ ดร. ภาณุพงศ์ อุดมศิลป์ ประธานหลักสูตรศิลปะศาสตร์บัณฑิต สอนภาษาไทยให้นิสิตระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้มีความคิดเห็นว่า การสะกดคำโดยใช้ระบบใหม่ ยังมีผลเสียอยู่ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากการใช้หลักดังกล่าว ไม่สามารถใช้ได้กับสระลดรูปได้ เช่น คำว่า ลด และ สระเพิ่มรูป เช่น คำว่า เพิ่ม จะสามารถใช้หลักนี้อธิบายอย่างไร ระบบการสะกดคำแบบใหม่เป็นการสะกดโดยผิดหลักโครงสร้างคำในภาษาไทย และได้ผลดีแค่ในระยะสั้น หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนของนักเรียนไม่เกิน 20 คน ในด้านของความคิดเห็นของผู้ปกครองของนักเรียนที่เรียนการสะกดคำในระบบใหม่ มีความคิดเห็นว่าผู้ปกครองเคยชินกับการสะกดคำในระบบเก่า จึงคิดว่าระบบการสะกดแบบใหม่อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ จึงสรุปได้ว่าการสะกดคำแบบใหม่ อาจเป็นเพียงแค่การทดลองของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่จะมาแก้ไขปัญหาการอ่านหนังสือของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถสะกดคำได้ และยังไม่ทราบว่าการสะกดคำแบบใหม่จะสามารถใช้ได้ผลกับเด็กทั่วประเทศได้หรือไม่
แหล่งที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 4 กรกฎาคม 2557

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557

ประวัติผู้จัดทำ

ประวัติผู้จัดทำ


นางสาวอมรรัตน์  แก้วนิมิตร  รหัสนักศึกษา 54191010339  หมู่เรียนที่ 3 
กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาภาษาไทย  สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์               มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์
คติประจำใจ เก็บความผิดผลาดในอดีตมาเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต

ประวัติวรรณคดีไทย

วรรณคดีไทยและประวัติวรรณคดีไทย




วรรณคดี แปลว่าเรื่องที่แต่งเป็นหนังสือ มีความหมายตรงกันคำว่า Literature ในภาษาอังกฤษ แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความของวรรณคดีว่า หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี ปรากฏครั้งแรกในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวรรณคดีสโมสร เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวรรณคดีสโมสร กล่าวว่า
๑ .เป็นหนังสือดี กล่าวคือ เป็นเรื่องที่สมควรซึ่งสาธารณชนจะอ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์ คือไม่เป็นเรื่องที่ชักจูงความคิดผู้อ่านไปในทางอันไม่เป็นแก่นสาร ซึ่งจะชวนให้คิดวุ่นวานทางการเมืองอันเกิดเป็นเรื่องรำคาญแก่รัฐบาลของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ( เพราะคนรู้น้อยอาจจะไขว้าเขวได้ )
๒.เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใด ๆ ก็ตามแต่ต้องให้เป็นภาษาไทยอันดี ถูกต้องตามเยี่ยงที่ใช้ในโบราณกาลหรือปัจจุบันกาลก็ได้ ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศ ( เช่น ใช้ว่า ไปจับรถ แทน ไปขึ้นรถ และ มาสาย แทน มาช้า ดังนี้เป็นตัวอย่าง )
วรรณคดี คือ ความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฎเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึก
          วรรณคดี คือ หนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลาเพราะพริ้งมีรสปลุกมโนคติ ( imagination ) ให้เพลิดเพลิน เกิดกระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง ๆ เป็นไปตามอารมณ์ของผู้ประพันธ์บทประพันธ์ที่เป็น
วรรณคดี คือ บทประพันธ์ที่มุ่งให้ความเพลิดเพลิน ให้เกิดความรู้สึกนึกคิด(imagination) และอารมณ์ต่าง ๆ ตามผู้เขียน นอกจากนี้บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดีจะต้องมีรูปศิลปะ ( form )

เท่าที่กล่าวมาแล้วพอสรุปได้ว่าวรรณคดี คือ เรื่องที่มีลักษณะดังนี้
๑ .ใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารไพเราะสละสลวย
๒ .ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ
๓ .ยกระดับจิตใจให้สูง
๔ .ใช้เป็นแบบแผนในการแต่งได้

          ร้อยกรอง คือ บทประพันธ์ที่แต่งให้มีสัมผัสของคำเชื่อมโยงกัน โดยมีคณะของคำตามหลักที่กำหนดไว้ในฉันทลักษณ์หรือตำรากลอนต่าง ๆ เช่น มีครุ ลหุ เอก โท เป็นต้น
รูปแบบของร้อยกรองวรรณคดีที่เป็นร้อยกรอง ( กาพย์กลอนของไทย ) ได้เจริญเรื่อยมา และแบ่งตามรูปแบบคำประพันธ์ที่ใช้แต่งเรื่องนั้น ๆ ได้ดังนี้
๑ .คำหลวง เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงในพระราชวงศ์ทรงแต่ง หรือ ทรงเกี่ยวข้องในการแต่ง ไม่จำกัดรูปแบบคำประพันธ์ แต่ต้องเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรมจรรยา เท่าที่ปรากฏชื่อในวรรณคดีมีอยู่ ๔ เรื่อง คือ มหาชาติคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำ-หลวง และพระนลคำหลวง
๒ .คำฉันท์  ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นฉันท์ชนิดต่าง ๆ มักมีกาพย์บางชนิดปนอยู่ด้วย เช่น สมุทรโฆษคำฉั นท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น
๓ .คำโคลง ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นโคลงคั้นหรือโคลงสี่สุภาพ เช่น โคลงนิราศนรินทร์ เป็นต้น
๔ .คำกลอน วรรณคดีที่แต่งเป็นคำกลอนชนิดต่าง ๆ ได้แก่ กลอนสุภาพ กลอนเสภา กลอนบทละคร กลอนหก เช่น พระอภัยมณี เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
๕ .คำกาพย์ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ เช่น กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นต้น
๖.กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งด้วยโคลงและกาพย์ เช่น กาพย์ห่อโคลงประพาศธารทองแดง กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
๗ .ร่ายยาว  ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นร่ายยาว เช่น ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น
๘.ลิลิต ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งโดยใช้โคลงและร่ายปนกัน รับสัมผัสคำแบบลิลิต เช่น ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตนิทราชาคริต เป็นต้น

นอกจากแบ่งตามลักษณะคำประพันธ์แล้ว ยังแบ่งตามเนื้อเรื่อง เช่น นิราศ เพลงยาว นิทานคำกาพย์ นิทานคำกลอน คำสอน เป็นต้น

บทละคร คือ เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อการแสดงบนเวทีรูปแบบของบทละคร
๑ . บทละครรำ เป็นบทละครแบบเดิมของไทย ได้แก่ บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง เป็นต้น
๒ . บทละครแบบตะวันตก ได้แก่ บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ บทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า บทละครคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา เป็นต้น

การแบ่งประเภทวรรณคดีตามเกณฑ์ต่าง ๆ วรรณคดีไทยอาจแบ่งตามเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ดังนี้
แบ่งตามความมุ่งหมาย แยกได้ ๒ ประเภท คือ
๑.สารคดี คือ หนังสือที่มุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญแต่ในขณะเดียวกันก็ใช้กลวิธี การเขียนให้เกิดความบันเทิงเป็นผลพลอยได้ไปด้วย เช่น บทความหรือความเรียง หนังสือสารคดี ตำรา บันทึก จดหมายเหตุ รายงาน พงศาวดาร ตำนาน ปาฐกถา คำสอน
๒.บันเทิงคดี คือ หนังสือที่มุ่งให้ความสนุกเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านมากกว่าความรู้ แต่อย่างไรก็ดี บันเทิงคดีย่อมมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญแทรกอยู่ด้วยในรูปของคติชีวิตและเกร็ดความรู้ เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย บทละครพูด นิทาน นิยาย

แบ่งตามลักษณะที่แต่ง แยกได้ ๒ ประเภท คือ
๑ . ร้อยแก้ว อาจแต่งเป็นสารคดีหรือบันเทิงคดี โดยมีรูปแบบต่าง ๆ
๒ . ร้อยกรอง หมายถึง ความเรียงที่ใช้ภาษาพูดตามธรรมดา แต่มีรูปแบบโดยเฉพาะและมีความไพเราะเหมาะเจาะด้วยเสียงและความหมาย ร้อยกรองอาจเรียกว่าคำประพันธ์ กาพย์กลอน หรือ กวีนิพนธ์ ก็ได้ ร้อยกรองแต่เป็นกลอน โคลง ร่ายกาพย์และฉันท์ อาจแต่งเป็นสารคดีและบันเทิงคดี ส่วนมากเป็นบันเทิง
คดี โดยอาจแบ่งรูปตามชนิดของ คำประพันธ์ หรือลักษณะของเนื้อเรื่อง

แบ่งตามลักษณะการจดบันทึก แยกได้ ๒ ประเภท คือ
๑ .วรรณคดีลายลักษณ์อักษร ได้แก่ วรรณคดีที่บันทึกไว้เป็นหนังสืออาจเป็นตัวจารึก ตัวเขียน หรือตัวพิมพ์ก็ได้
๒.วรรณคดีที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่วรรณคดีที่บอกเล่าจดจำสืบต่อกันมาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วรรณคดีมุขปาฐะ เช่นเพลงพื้นเมือง บทเห่กล่อม นิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย
         การแบ่งประเภทวรรณคดีดังกล่าวอาจคาบเกี่ยวกันได้ สารคดีโดยทั่วไปมักแต่งเป็นร้อยแก้วแต่อาจแต่งเป็นร้อยกรองก็ได้บันเทิงคดี อาจแต่งเป็นร้อยกรองหรือร้อยแก้วก็ได้


ขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/85529

นางในวรรณคดีไทย

นางในวรรณคดีไทย



       วรรณคดี ถือเป็นวรรณกรรมหรืองานเขียนที่ได้รับการยกย่องว่า นอกจากจะมีเนื้อหาสาระในเชิงสร้างสรรค์แล้ว ยังมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ สามารถทำให้ผู้อ่านคล้อยตามเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ วรรณคดีส่วนใหญ่ มักให้ความสำคัญที่ตัวละคร รวมถึงการดำเนินเรื่อง และสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากไม่แพ้เนื้อหา คือ นางในวรรณคดี ที่แต่ละเรื่องที่มีอุปนิสัยแตกต่างกัน ซึ่งนางในวรรณคดีเหล่านี้บ้างก็พบกับโชคชะตาที่ยากลำบาก หรืออุปสรรคต่าง ๆ กระทั่งนำไปสู่บทสรุปที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้นำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตนั่นเอง
       เนื่องจากวรรณคดีมีมากมายหลายเรื่อง ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักนางในวรรณคดีมากขึ้น เราจึงนำเรื่องราวของของนางในวรรณคดีจากเรื่องต่าง ๆ มากฝากกันค่ะ ส่วนจะมีใครบางนั้น ถ้าพร้อมแล้วไปดูกัน


กากี จากเรื่อง กากาติชาดก



          นางกากี นอกจากจะมีรูปกายงดงามราวกับเทพธิดาแล้ว ยังมีกลิ่นกายหอมชวนหลงใหล เมื่อชายใดแตะต้องหรือ สัมผัสนาง กลิ่นกายนางก็จะหอมติดชายคนนั้นไปถึงเจ็ดวัน เดิมทีนางกากีเป็นพระมเหสีของท้าวบรมพรหมทัต ซึ่งโปรดการเล่นสกามาก และมีพระยาครุฑเวนไตยซึ่งแปลงร่างเป็นมานพรูปงามมาเล่นสกาอยู่ด้วยเนือง ๆ จนวันหนึ่งท้าวบรมพรหมทัตเล่นสกาเพลิน มิได้ไปหานางกากี นางจึงมาแอบดูและสบตาเข้ากับพระยาครุฑแปลง จากนั้นทั้งสองต่างเกิดอาการหวั่นไหว จนพระยาครุฑได้ตัดสินใจลักพาตัวนางไปอยู่ที่วิมานฉิมพลี ทำให้ท้าวพรหมทัตกลัดกลุ้มพระทัยมาก ดังนั้น คนธรรพ์นาฏกุเวร (คนธรรพ์คือเทวดาชั้นผู้น้อยที่มีความชำนาญด้านดนตรี) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของท่านท้าวท้าวบรมพรหมทัตจึงอาสาพานางกลับมา โดยการแปลงตัวเป็นไรแทรกอยู่ในขนครุฑเพื่อตามไปที่วิมานของครุฑ
จากนั้นเมื่อพระยาครุฑบินออกไปหาอาหารคนธรรพ์นาฏกุเวรก็ปรากฏกายออกมา แต่แทนที่จะพานางกากีกลับเมือง กลับเกี้ยวพาราสีและเล้าโลมนางจนได้เสียกัน ต่อมาคนธรรพ์นาฏกุเวรกลับมารายงานท้าวบรมพรหมทัตว่า นางกากีจะอยู่กับครุฑและตนได้เสียกับนางแล้วเพื่อให้ท้าวบรมพรหมทัตรังเกียจนาง ซึ่งท้าวบรมพรหมทัตก็โกรธแต่ทำอะไรไม่ได้ เมื่อพระยาครุฑแปลงกายมาเล่นสกาอีกก็ถูกคนธรรพ์นาฏกุเวรเยาะเย้ย เมื่อพญาครุฑทราบเรื่องทั้งหมดก็โกรธนางกากีมาก ถึงขั้นนำนางมาปล่อยไว้ในเมือง ส่วนท้าวบรมพรหมทัตเอง เมื่อเห็นนางก็ต่อว่าถากถางก่อนนำนางไปลอยแพกลางทะเล ระหว่างนั้นนางกากีได้รับความช่วยเหลือจากนายสำเภา ก่อนตกเป็นภรรยาของชายผู้นี้
          แต่เคราะห์กรรมนางก็ยังไม่หมด เมื่อถูกโจรลักพาตัวไปเพราะหลงใหลรูปโฉม แต่ปรากฏว่า ในหมู่โจรก็เกิดการแย่งชิงนางเกิดขึ้น เมื่อนางหนีไปได้ก็ได้ไปเป็นมเหสีของท้าวทศวงศ์ กษัตริย์อีกเมืองหนึ่ง เมื่อคนธรรพ์นาฏกุเวรได้ครองเมืองแทนท้าวบรมพรหมทัตที่สวรรคตลง ก็ได้ตามไปชิงนางกลับคืนมาโดยการฆ่าท้าวทศวงศ์ เรื่องจึงจบลง ซึ่งนับดูแล้วพบว่า นางกากีมีสามีถึง 5 คน และต้องตกระกำลำบาก รวมถึงถูกสังคมประณามเนื่องจากมีเสน่ห์มากเกินไป


พระเพื่อน พระแพง จากเรื่อง ลิลิตพระลอ



          
           เจ้าราชวงศ์แมนสรวงกับเจ้าราชวงศ์สรองเป็นปรปักษ์ต่อกัน แต่โอรสและธิดาของ 2 เมืองนี้เกิดรักกันและยอมตายด้วยกัน ฝ่ายชายคือ พระลอ เป็นกษัตริย์แห่งเมืองแมนสรวง มีพระชายาชื่อ นางลักษณวดี สำหรับ พระลอ นั้น เป็นหนุ่มรูปงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจนทำให้พระเพื่อน พระแพง เกิดความรักและปรารถนาที่จะได้พระลอมาเป็นสวามี พี่เลี้ยงของพระเพื่อน พระแพง ชื่อนางรื่น นางโรย จึงได้ออกอุบายส่งคนไปขับซอยอโฉมพระเพื่อน พระแพง ให้พระลอฟัง และให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ให้พระลอเกิดความรักหลงใหลคิดเสด็จไปหานาง
          แต่เมื่อพระนางบุญเหลือชนนีของพระลอทราบเรื่องเข้าจึงได้หาหมอแก้เสน่ห์ แต่ปู่เจ้าสมิงพรายได้เสกสลาเหิน(หมากเหิน) มาให้พระลอเสวยในตอนหลังอีก ทำให้พระลอถึงกับหลงใหลธิดาทั้งสองมากขึ้น พระลอจึงทูลลาชนนีและพระนางลักษณวดีไปยังเมืองสรอง พร้อมกับนายแก้ว นายขวัญ ที่เป็นพี่เลี้ยง จนกระทั่งพระลอได้พบกับพระธิดาทั้งสอง และได้พวกนางเป็นชายา รวมทั้งนายแก้ว นายขวัญ ก็ได้กับนางรื่น กับนางโรย พี่เลี้ยงเป็นภรรยาด้วยเช่นกัน
          ต่อมา เมื่อพระพิชัยพิษณุกร พระบิดาของพระเพื่อน พระแพง ทราบเรื่องก็ทรงกริ้ว แต่พอทรงพิจารณาเห็นว่าพระลอมีศักดิ์เสมอกันก็หายกริ้ว แต่พระเจ้าย่า (ย่าเลี้ยง) ของพระเพื่อน พระแพง โกรธมาก เพราะแค้นที่พระบิดาของพระลอได้ประหารท้าวพิมพิสาครสวามีในที่รบ พระเจ้าย่าจึงถือว่าพระลอเป็นศัตรู และได้สั่งทหารให้ไปล้อมพระลอที่ตำหนักกลางสวน พร้อมทั้งสั่งประหารด้วยธนู ทำให้ พระลอ พระเพื่อน พระแพง ที่ร่วมกันต่อสู้กับทหารของพระเจ้าย่า สิ้นชีพเคียงข้างกันทั้ง 3 พระองค์ 
          ด้านท้าวพิชัยพิษณุกร ทรงทราบว่าพระเจ้าย่าสั่งให้ทหารฆ่าพระลอพร้อมพระธิดาทั้งสององค์ ก็ทรงกริ้วและสั่งประหารพระเจ้าย่าเสีย เนื่องจากมิใช่พระชนนี แล้วโปรดให้จัดการพิธีศพพระลอกับพระธิดาร่วมกันอย่างสมเกียรติ โดยส่งทูตนำสาส์นไปถวายพระนางบุญเหลือ ชนนีของพระลอ ที่เมืองแมนสรวง สุดท้ายเมืองสรองกับเมืองแมนสรวงจึงกลับมามีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน



รจนา จากเรื่อง สังข์ทอง


          พระสังข์ เป็นโอรสของ ท้าวยศวิมลกับมเหสีชื่อนางจันท์เทวี แต่พระองค์และพระมารดาได้ถูกเนรเทศออกจากวัง เนื่องจากสนมเอกของท้าวยศวิมลที่ชื่อนางจันทาเทวี เกิดความริษยาจึงติดสินบนโหรหลวงให้ทำนายว่าหอยสังข์จะทำให้บ้านเมืองเกิดความหายนะ ท้าวยศวิมลหลงเชื่อจึงจำใจต้องเนรเทศนางจันท์เทวีและหอยสังข์ไปจากเมือง 
          นางจันท์เทวีพาหอยสังข์ไปอาศัยอยู่กับตายายชาวไร่ เป็นเวลาถึง 5 ปี ระหว่างนั้นพระโอรสในหอยสังข์ก็แอบออกมาช่วยทำงานบ้านตอนที่ไม่มีใครอยู่ เมื่อนางจันท์เทวีทราบก็ทุบหอยสังข์เสีย เพื่อให้พระสังข์ได้ออกมาอยู่ตน ทว่า ในเวลาต่อมาพระนางจันทาเทวีได้ไปว่าจ้างแม่เฒ่าสุเมธาให้ช่วยทำเสน่ห์เพื่อที่ท้าวยศวิมลจะได้หลงอยู่ในมนต์สะกด และได้ยุยงให้ท้าวยศวิมลไปจับตัวพระสังข์มาประหาร แต่ท้าวภุชงค์ที่เป็นพญานาคได้มาช่วยไว้ และนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ก่อนจะส่งให้นางพันธุรัตเลี้ยงดูต่อจนพระสังข์มีอายุได้ 15 ปี
          วันหนึ่งพระสังข์ได้แอบไปเที่ยวเล่นที่หลังวัง จนได้พบกับบ่อเงิน บ่อทอง รูปเงาะ เกือกทอง และไม้พลอง รวมถึงกับซากโครงกระดูก ทำให้พระสังข์ทราบว่านางพันธุรัตเป็นยักษ์ จึงเตรียมแผนการหนีด้วยการกระโดดลงไปชุบตัวในบ่อทอง ก่อนสวมรูปเงาะ กับเกือกทอง และขโมยไม้พลองเหาะหนีไป
          จากนั้นพระสังข์ได้เดินทางมาถึงเมืองสามล ซึ่งมีท้าวสามลและพระนางมณฑาปกครองเมือง ซึ่งท้าวสามลและพระนางมณฑามีธิดาล้วนถึง 7 พระองค์ โดยเฉพาะพระธิดาองค์สุดท้องที่ชื่อ รจนา มีสิริโฉมเลิศล้ำกว่าธิดาทุกองค์ จนวันหนึ่งท้าวสามลได้จัดให้มีพิธีเสี่ยงมาลัยเลือกคู่ นางรจนาที่เห็นรูปทองก็ได้เลือกเจ้าเงาะเป็นสวามี ด้านท้าวสามลที่โกรธจัด เนื่องจากนางรจนาเลือกเจ้าเงาะที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ ดังนั้นจึงสั่งเนรเทศนางไปอยู่ที่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะ
          แม้รจนาต้องปลูกผักกินเอง และต้องหุงหาอาหารต่าง ๆ โดยที่นางไม่เคยได้ทำ แต่เจ้าเงาะก็ได้สอนการเป็นแม่บ้านแม่เรือนให้กับนาง  จนนางทำได้ทุกอย่างและอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข  แต่บรรดาพ่อแม่และพี่ ๆ ก็ยังคอยกลั่นแกล้งนางรจนากับเจ้าเงาะตลอด จนพระอินทร์เกิดสงสารจึงคิดอุบายตีเมืองของท้าวสามนต์ เพื่อให้เจ้าเงาะถอดรูปออกมารบจนชนะ เมื่อท้าวสามลทราบความจริงก็พอใจเป็นอย่างมาก จึงให้ทั้งสองเข้ามาอยู่ในวังด้วยกันดังเดิม   


บุษบา จากเรื่อง อิเหนา


          นางบุษบา เป็นธิดาของท้าวดาหาและประไหมสุหรีดาหราวาตี แห่งกรุงดาหา เมื่อตอนประสูติมีเหตุอัศจรรย์คือ มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งวัง ดนตรี แตรสังข์ก็ดังขึ้นเองโดยไม่มีผู้บรรเลง และเมื่อประสูติได้ไม่นาน ท้าวกุเรปันก็ขอตุนาหงันให้กับอิเหนา ทั้งนี้ นางบุษบาเป็นหญิงที่งามล้ำเลิศกว่านางใดในแผ่นดินชวา กิริยามารยาทเรียบร้อย คารมคมคาย เฉลียวฉลาดทันคน ใจกว้างและมีเหตุผล จึงทำให้อิเหนารักใคร่หลงใหลนางยิ่งกว่าหญิงใด
          ทว่า นางถูกเทวดาบรรพบุรุษของวงค์อสัญแดหวา คือ องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้ลมพายุหอบไป ทำให้นางต้องพลัดพรากจากอิเหนาเป็นเวลาหลายปีกว่าจะได้พบอิเหนาและวิวาห์กัน โดยนางได้ตำแหน่งเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย ทั้งนี้ การที่นางยอมให้อิเหนายกนางจินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวาแต่โดยดี ด้วยเห็นว่านางจินตะหราเป็นผู้มาก่อน แม้ว่าจินตะหราจะไม่ใช่วงศ์เทวัญ ซึ่งข้อนี้ยากที่จะหาหญิงใดเสมอเหมือนและนับว่านางบุษบาเป็นหญิงไทยในวรรณคดีที่สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติคนหนึ่ง

ขอบคุณแหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/84335

คลังภาพนางในวรรณคดี

คลังภาพนางในวรรณคดี